วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติหมากรุกไทย

ประวัติ (ตำนาน) หมากรุก
      การเล่นหมากรุกปรากฎว่ามีในประเทศอินเดียมาช้านานนับพันปี โดยชาวอินเดีย อ้างว่าหมากรุกเกิดขึ้น เมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลังกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์ ์เดือดร้อนรำคาญ ในการที่ต้องเป็นกังวลคิดต่อสู้สงคราม ไม่มีเวลาเป็นผาสุก นางรู้ ู้จึงชักชวนทศกัณฐ์ ให้พักผ่อนด้วยประการอย่างอื่น จึงคิดเอากระบวนการสงคราม คิดทำเป็นหมากรุกขึ้น ให้ทศกัณฐ์เล่นแก้รำคาญ มูลเหตุที่จะเกิดมีหมากรุก พวกชาวอินเดียกล่าวกันมาดังนี้ แต่ชื่อที่เรียกว่าหมากรุกเป็นคำของไทยเราเรียก พวกชาวอินเดียเขาเรียก หมากรุกว่า" จตุรงค์ เพราะเหตุที่คิดเอากระบวนพล ๔ เหล่า ทำเป็นตัวหมากรุก ได้แก่
        1.) หัสดีพลช้าง (ได้แก่โคน) ๑
        2.) อัศวพลม้า ๑
        3.) โรกะพลเรือ ๑ (พลเรือนั้นอธิบายว่าเพราะคิดขึ้นที่เกาะลังกา  จึงใช้เรือแทนรถ)
        4.) ปาทิกะพลราบ (ได้แก่เบี้ย) ๑
        5.) มีราชา (คือขุน) เป็นจอมพล
        ตั้งเล่นกันบนแผ่นกระดาน อันแบ่งเป็นตาราง ๖๔ ช่อง (เหมือนในปัจจุบัน)
        วิธีเล่นหมากรุกชั้นเดิมที่เรียกว่าจตุรงค์นั้น ไม่เหมือนอย่างที่เล่นกันในชั้นหลัง มีอธิบายอยู่ในหนังสือมหาภารตะ ว่าแบ่งตัวหมากรุกเป็น ๔ ชุด ย้อมสีต่างกัน
ได้แก่
        1.) สีแดงชุด ๑
        2.) สีเขียวชุด ๑
        3.) สีเหลืองชุด ๑
        4.) สีดำชุด ๑
ิิ        ในชุด ๑ นั้น ตัวหมากรุกมีขุนตัว ๑   ช้าง (โคน) ตัว ๑   ม้าตัว ๑   เรือตัว ๑ เบี้ย ๔ ตัว รวมเป็นหมากรุก ๘ ตัว สมมุติว่าเป็นกองทัพของประเทศ ๑ ตั้งตัว หมากรุกในกระดานดังนี้

         ชุดทางขวามือสมมุติว่าอยู่ประเทศ ทางทิศตะวันออก ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ พวกทางซ้ายมือว่าอยู่ประเทศทิศตะวันตก ชุดข้างบนว่าอยู่ประเทศทิศเหนือ คนเล่นก็ ๔ คน ต่างถือหมากรุกคนละชุด แต่กระบวนเล่นนั้น ๒ พวกที่อยู่ทแยงมุมกัน (คือพวกขาวในรูปนี้) เป็นสัมพันธมิตรช่วยกัน ๒ พวก (ดำ) ซึ่งเป็นสัมพันธมิตรกันอีกฝ่ายหนึ่ง ลักษณะการเดินตัวจตุรงค์นั้น ขุน ม้า เบี้ย เดินอย่างเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกัน แต่ช้างเดินอย่างเราเดินเรือทุกวันนี้ ส่วนเรือนั้นเดินทแยง (อย่างเม็ด) แต่ให้ข้ามตาใกล้เสียตา ๑ แต่การที่จะเดินต้องใช้ทอดลูกบาศก์ ลูกบาศก์นั้นทำเป็นสี่เหลี่ยมแท่งยาว ๆ มีแต่ ๔ ด้าน หมาย ๒ แต้มด้านหนึ่ง ๓   แต้มด้านหนึ่ง ๔ แต้มด้านหนึ่ง ๕ แต้มด้านหนึ่ง คนเล่นทอดลูกบาศก์เวียนกันไป ถ้าทอดได้แต้ม ๕ บังคับให้เดินขุนฤาเดินเบี้ย ถ้าทอดได้แต้ม ๔ ต้องเดินช้าง แต้ม ๓ ต้องเดินม้า แต้ม ๒ ต้องเดินเรือ แต่จะเดินไปทางไหนก็ตามใจ เว้นแต่เบี้ยนั้นไปได้แต่ข้างหน้าทางเดียว (อย่างหมากรุกที่เราเล่นกัน) วิธีเล่นหมากรุกชั้นเดิมที่เรียกว่าจตุรงค์มีเค้าดังกล่าวมานี้
         ครั้นจำเนียรกาลนานมาถึงเมื่อราว พ.ศ. ๒๐๐ ปี ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินในอินเดียองค์หนึ่ง ชอบพระทัยในการสงครามยิ่งนัก ตั้งแต่เสวยราชย์ก็เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองที่ใกล้เคียง จนได้เป็นมหาราชไม่มีเมืองใดที่จะต่อสู้พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น ครั้นไม่มีโอกาสที่จะเที่ยวทำสงครามอย่างแต่ก่อน ก็เกิดเดือดร้อนรำคาญพระทัย จึงปฤกษามหาอำมาตย์คนหนึ่ง ชื่อว่า สัสสะ ว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะมีความสุข มหาอำมาตย์คนนั้น คิดว่าจะแก้ด้วยอุบายอย่างอื่น พระเจ้าแผ่นดินนั้นก็คงจะยังอยากหาเหตุเที่ยวรบพุ่งอยู่นั่นเอง ที่ไหนบ้านเมืองจะได้มีสันติสุข จึงเอาการเล่นจตุรงค์มาคิดดัดแปลงให้เล่นกันแต่ ๒ คนและเลิกวิธีทอดลูกบาตรเสียให้เดินแต้มโดยใช้ปัญญาความคิดเอาชนะกันเหมือนทำนองอุบายการสงคราม แล้วนำขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดิน ชวนให้ทรงแก้รำคาญ พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นทรงเล่นจตุรงค์อย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดถวาย ก็เพลิดเพลินพระหฤทัย หายเดือดร้อนรำคาญ บ้านเมืองก็เป็นสุขสมบูรณ์ (ตำนานเรื่องมหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้การเล่นจตุรงค์ เล่ากันเป็นหลายอย่าง อ้างกาลต่างยุคกัน เลือกมาแสดงในที่นี้แต่เรื่องเดียว)
         กระบวนหมากรุกที่ว่ามหาอำมาตย์สัสสะคิดใหม่นั้นคือรวมต้วหมากรุกซึ่งเดิมเป็น ๔ พวกนั้นให้เป็นแต่ ๒ พวก ตั้งเรียงกันฝ่ายละฟากกระดาน (ทำนองเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกันทุกวันนี้) เมื่อจัดเป็นกระบวนทัพแต่ ๒ ฝ่ายจะมีพระราชาฝ่ายละ ๒ องค์ไม่ได้ จึงลดขุนเสีย ๒ ตัว คิดเป็นตัวมนตรีขึ้นแทน (คือตัวที่เราเรียกกันว่าเม็ด) หมากรุกอย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้ไขนี้ ต่อมาแพร่หลายไปถึงนานาประเทศ พวกชาวประเทศอื่นไปคิดดัดแปลงแก้ไขตามนิยมกันในประเทศนั้น ๆ อีกชั้นหนึ่ง หมากรุกที่เล่นกันในนานาประเทศทุกวันนี้จึงผิดเพี้ยนกันไป แต่เค้ามูลยังเป็นอย่างเดียวกัน เพราะต้นแบบแผนได้มาแต่อินเดียด้วยกันทั้งนั้น เรื่องตำนานหมากรุกที่กล่าวมานี้ ได้อาศัยเก็บความในหนังสือเรื่องตำนานหมากรุกของดอกเตอร ดันคัน ฟอบส์ มาแสดงพอให้ทราบเค้าความ.

ประวัติหมากรุกไทย
 

         เมื่อค้นคว้าจากหนังสือหมากรุกเท่าที่จะค้นหาได้ใน หอสมุดแห่งชาติ สรุปได้ว่า ตำนานหมากรุกมีที่มาคล้ายคลึงกัน และแทบทุกแห่งจะอ้างอิง จากหนังสือเล่มเดียวกันคือ ตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณทั้งสิ้น ที่จะมีผิดแผกไปบ้างบางเล่ม เช่น ผู้ดัดแปลงหมากรุกจากเดิมจัตุรงค์ซึ่งมีผู้เล่นสี่คน มาเป็นหมากรุกที่มีผู้เล่นสองคน แทนที่จะเป็นมหาอำมาตย์สัสสะ ในประเทศอินเดีย บางเล่มเพี้ยนไปเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่กรีก แต่ก็มีรายละเอียดคล้ายคลึงกัน
         ประวัติการเล่นหมากรุกไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.2310-2325 ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2318 เดือนอ้าย อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าวัย 72 ปี ผู้เหิมเกริมอาสานำไพร่พลฝีมือดี 35,000 คน คิดรุกรานผืนแผ่นดินไทย โดยยกพลเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองสุโขทัย กางตำราพิชัยสงครามเชิงรุก และเริ่มลงมือกวาดต้อนเสบียงอาหารสะสมกักตุนไว้ทันที พระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ทรงทราบยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งนี้เป็นอย่างดี หากแต่ครั้งนั้นมีรี้พลประมาณ 20,000 คนจึงจำต้องวางแผนพิชัยสงครามในเชิงรุกและรับด้วยหน่อยจู่โจมหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะศึกใหญ่ โดยใช้แผนถอยเอาเชิง 2 ชั้น
         กล่าวคือ ให้พระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ ตั้งหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลก กวาดต้อนเสบียงและผู้คน ตลอดจนรักษาฐานะเมืองเชียงใหม่ไว้ ด้วยหวังตรึงกำลังอะแซหวุ่นกี้ไว้ให้นานที่สุด ส่วนทัพหลวงนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีกลับเป็นฝ่ายเคลื่อนไหวประกอบกับหน่วยจู่โจม และหน่วยกองเพลิงป่า มุ่งหวังตัดเสบียงและจู่โจม รบกวนทำลายรี้พลพม่าทั้งกลางวันและกลางคืน หลังจากปะทะกันมาถึง 4 เดือน ต่างก็ขัดสนเสบียงอาหาร โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกยังมีผู้หญิงและเด็กมากมาย ครั้นกองเสบียงจากทัพหลวงถูกตัดขาด แผนการขั้นที่ 2  จึงได้เริ่มขึ้นโดยพระยาจักรีออกอุบายจำทำการรบใหญ่ ด้วยการเอาปี่พาทย์ประโคมศึกตามป้อมค่าย พร้อมยิงปืนใหญ่กรุยทางตั้งแต่เช้าจนค่ำ ส่วนพระองค์พร้อมด้วยพระยาสุรสีห์ ได้ทรงนั่งเล่นหมากรุกอยู่บนเชิงกำแพงเมือง ร้องเรียกให้อะแซหวุ่นกี้ขึ้นมาประลองฝีมือสักกระดาน
แผนการถอยทัพเอาชัยจึงสัมฤทธิ์ผลในเวลาสามทุ่มคืนนั้นโดยมีผู้หญิงและเด็กแต่งกายคล้ายทหารพกอาวุธทุกคนถอยไปตั้งทัพชั่วคราว ที่เพชรบูรณ์ แล้ววกลงใต้ไปตามแม่น้ำป่าสักและลพบุรีไปยังแถบพระพุทธบาทสระบุรี   แล้วอ้อมขึ้นไปอุทัยธานี ทำหน้าที่เป็นหน่วยจรยุทธหนักคอยตีดัดหลัง
         ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ หลังจากเสียเวลาติดตามไปตีเมืองเพชรบูรณ์ อย่างไร้ผลและขาดเสบียงเพิ่มเติมในที่สุด ก็ตั้งทัพอยู่กับที่ เป็นเวลาหลายเดือนไม่สามารถหาเป้าหมาย (ขุน) สำหรับโจมตีได้ ตัวเองกลับจะตกเป็นเป้านิ่งเลยตัดสินใจถอยทัพกลับพม่า ระหว่างทางถูกดักตีซ้ำเติมเสียรี้พลมากมาย กลับถึงพม่าอย่างสะบักสะบอม
         ตำราพิชัยสงครามกล่าวว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง หมากรุกเดินด้วยสมอง“ นับตั้งแต่นั้นมา พม่ามิกล้ายกกองทัพใหญ่ มารุกรานไทยอีกเลย ด้วยเกรงพระปัญญาบารมีของพระองค์ยิ่งนัก ยิ่งมาทราบว่าพระองค์ 2 พี่น้องทางโปรดกีฬาหมากรุกด้วยแล้ว โดยเฉพาะกลถอยเอาชนะของพระองค์นั้น เป็นที่เทิดทูนเคารพบูชา ที่พวกเราชาวไทยทุกคนทั้งหลายได้อยู่ยั่งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้
         ประวัติการเล่นหมากรุกไทยตั้งแต่ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2526 หลังจากการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 แล้ว ก็ได้ปรากฏว่ามีการเล่นหมากรุกกันมากในหมู่พระราชวงศ์ ดังจะเห็นมีหมากรุกงาและเขาสัตว์ แสดงความเก่าแก่มานานจนงานั้นผุพังไปก็มี ตัวอ้วนกลมเตี้ยไม่ได้ขนาดก็มี
หมากรุกได้แพร่หลายไปตามหมู่เจ้านาย ไพร่พล หมู่ทหาร ข้าราชบริพาร และยังไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ จนในที่สุดเข้าถึงประชาชนโดยทั่วไป ดังจะเห็นมีตำรากลหอพระสมุดแห่งชาติ และตำราเคล็ดลับทางโคนที่ได้มาจากทางภาคอีสาน
การแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการ คงจะมีขึ้นบ้างเป็นการประลองฝีมือ แต่การพนันรายใหญ่มักจะมีในหมู่เศรษฐี ดังเช่นศึกชิงเรือสำปั้น ระหว่างนายโหมดกับเจ้านายพระองค์หนึ่งทางตำหนักเสาชิงช้า นอกจากศึกชิงเรือสำปั้นแล้ว ยังมีศึกผ้าขาวม้า ศึกสามเส้า ตอนงูกินหางและตอนจับงูอีกด้วยข้อมูลจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และตำราพิชัยยุทธ น.ต. มณเฑียร รื่นวงษา
เพลงยาวกระบวนไล่หมากรุก
         เนื้อหาสำคัญในเพลงยาวกระบวนไล่หมากรุกนั้นพอสรุปได้ 3 ตอน ได้แก่
         1.) ตอนแรกเป็นการไหว้ครู
         2.) ตอนที่สองจะบอกกติการการนับตามศักดิ์หมาก
         3.) ตอนที่สามจะบอกกติกาการนับตามศักดิ์กระดานว่าถ้าสองฝ่ายมีหมากอะไรจะต้องไล่ให้จนในกี่ที มิฉะนั้นถือว่าเสมอกัน และบางกรณีที่ต่างฝ่ายมีหมากตามกำหนดจะมีชื่อเรียกให้ด้วยตามลักษณะหมากที่สองฝ่ายมีอยู่ เช่นหอกข้างแคร่ ลูกติดแม่ ควายสู้เสือ เป็นต้นเฉพาะบทแรกเป็นบทไหว้ครู คัดมาจาก หนังสือ สนุกกับหมากรุกไทย โดย วินัย ลิ้มดำรงค์ชิต พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา